รู้หรือไม่? ในทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 200 รายต่อวัน
แนวโน้มผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานอายุ 35 ปีขึ้นไป และหากไม่ดูแลตัวเองอาจจะเสี่ยงถึงเสียชีวิตได้ หลายๆคนอาจจะเข้าใจว่า โรคเบาหวานเกิดจากการกินน้ำตาลมากจนเกินไป แต่จริงๆแล้วมีปัจจัยการเป็นเบาหวานมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ทั้งจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ จนกลายเป็นความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถใช้น้ำตาลได้ตามปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ส่งผลให้ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนผลิตออกมาไม่เพียงพอ และท้ายที่สุดอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง
โรคเบาหวานที่พบบ่อย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
เบาหวานประเภทที่ 1 พบได้น้อย ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย ประเภทนี้เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน และไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดไป เพราะอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน มักพบในเด็กและวัยรุ่น
เบาหวานประเภทที่ 2 พบได้มาก ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย และส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มคนอายุ 45 ปีขึ้นไป เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ประเภทนี้มักไม่มีอาการอย่างเฉียบพลัน แต่หากขาดการควบคุม ก็สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันได้
เบาหวานประเภทที่ 3 เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
เบาหวานประเภทที่ 4 เป็นเบาหวานชนิดที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของสารพันธุกรรม หรือโรคของทางตับอ่อน
อาการของโรคเบาหวาน สังเกตเองได้
ในระยะแรก โรคเบาหวานจะไม่แสดงอาการผิดปกติ ซึ่งอาการส่วนใหญ่ที่พบและบอกได้ว่าคุณกำลังเป็นโรคเบาหวานมีได้หลายอาการ เช่น ปัสสาวะบ่อยครั้ง ปัสสาวะกลางคืน คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก หิวบ่อย กินจุ น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างผิดปกติ เหนื่อยง่าย ผอมลง อ่อนเพลีย เป็นแผลหรือฝีง่ายแต่หายยาก คันตามผิวหนังและอวัยวะสืบพันธุ์ ตาพร่ามัว ชาปลายมือปลายเท้า ความรู้สึกทางเพศลดลง และที่สำคัญหากบิดามารดาเป็นเบาหวานมาก่อน ลูกก็จะมีโอกาสเป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้นถึง 6-10 เท่า
เริ่มต้นป้องกันโรคเบาหวานสำคัญที่สุด
หากไม่อยากเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน ทุกคนสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเบาหวานได้โดย ออกกำลังกายแบบแอโรบิก ให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวต่อเนื่องจนมีเหงื่อซึม หัวใจเต้นแรง อย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป สัปดาห์ละ 5 วัน ซึ่งการออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน หรือชะลอการเป็นเบาหวานออกไปได้
ระมัดระวังการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะประเภทแป้งและน้ำตาลเพื่อไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง และสำหรับผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของโภชนาการเพื่อการรักษาที่ได้ผล
และข้อแนะนำผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ซึ่งสามารถทำได้ 3 วิธี คือ การตรวจน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารเช้า โดยงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจเลือด ณ เวลาใด ๆ ก็ได้ โดยไม่ต้องงดอาหาร และการตรวจน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง เพราะพบภาวะโรคเบาหวานแต่เนิ่น ๆ จะสามารถทำการรักษาและป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ทันท่วงที